Tag: โควิด-19

โลกหลังโควิด,แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงหลัง covid-19
ข่าวสาร

โลกหลังโควิด จะเปลี่ยนไปอย่างไร

โลกหลังโควิด จะมีทิศทางเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง เชื่อว่าหลายคนติดตามเรื่องนี้อยู่ คำถามที่ว่า “หลังโควิดสิ้นสุด โลกและธุรกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไร และผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร” ในที่นี้เรานำเสมอมุมมองของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญกับมุมมองที่น่าสนใจ และเรื่องที่ต้องฉุกคิด ภายใต้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบทุกมิติของโลก เศรษฐกิจ การเงิน สังคม วิถีชีวิต ซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงว่า แม้หลังสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกคลี่คลาย นักวิเคราะห์ต่างมีความเห็นตรงกันว่า ‘โลกจะไม่เหมือนเดิม’ บางอย่างจะเปลี่ยนไปจากเดิมอัน สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน ทำให้เกิดเป็นวิถีปกติใหม่ หรือ New Normal คำถามที่เราต้องเร่งหาคำตอบคือ…อะไรที่จะไม่เหมือนเดิม

โลกหลังโควิด,แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงหลัง covid-19

Globalization สู่ Deglobalization


นายสุพริศร์ สุวรรณิก เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization) จะมีความเข้มข้นมากขึ้น และทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก่อนเกิดวิกฤตครั้งนี้ เราได้เห็นหลายประเทศใช้นโยบายแบบเน้นตนเอง (inward-looking policy) หรือปกป้องทางการค้า (protectionism) อย่างชัดเจนกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะจากสงครามการค้าที่ปะทุขึ้นโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่ส่งเสริมให้บริษัทสัญชาติอเมริกันกลับมาผลิตในประเทศมากขึ้นและกีดกันการค้าจากต่างประเทศ
ประเด็นนี้กลับมาชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกด้วยวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังตอกย้ำความเชื่อของฝ่ายขวาจัดและผู้ไม่สนับสนุนโลกาภิวัตน์ว่า การพึ่งพิงระบบการผลิตระหว่างประเทศมากเกินไปเป็นเรื่องอันตราย ซึ่งจะเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลกที่มีอยู่แล้วให้ยิ่งรวดเร็วมากขึ้น

จาก Free Trade สู่ Protectionism


ทั้งมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าประเทศต่างๆ จะหันมาพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในประเทศตนเองเพิ่มขึ้นอีก และกระจายความเสี่ยงด้านการผลิตและขายสินค้าโดยไม่พึ่งพาแต่ประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น เพราะเห็นผลกระทบชัดเจนจากขั้นตอนการผลิตหรือตลาดขายสินค้าเมื่อยามที่ต้องปิดตัวลง ซึ่งเป็นผลจากมาตรการต่างๆ อาทิ การปิดเมืองหรือประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
นอกจากนี้รัฐบาลประเทศต่างๆ อาจเปลี่ยนวิกฤตครั้งนี้ให้เป็น “โอกาส” ในการคิดทบทวนอย่างรอบคอบว่านโยบายเศรษฐกิจของประเทศจะเดินไปในทิศทางใด โดยจะพยายามกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโดยไม่พึ่งพารายได้ทางใดทางหนึ่งจนเกินไป อาทิ ไม่พึ่งพาแต่การส่งออกหรือการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่อาศัยการบริโภคและการลงทุนในประเทศเป็นเครื่องจักรสำคัญด้วย
โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขจะได้รับการแก้ไข
วิกฤตโควิด-19 สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลหลายประเทศ หันมาใส่ใจพื้นฐานด้านสาธารณสุขของประชาชนและไม่ปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวจัดการอย่างที่เคยเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ที่ระบบสาธารณสุขไม่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า วิกฤตครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการที่บุคคลจะเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้หรือไม่นั้น ไม่ควรเป็นเรื่องของปัจเจกชนอีกต่อไป
เพราะคนคนหนึ่งที่จริงๆ แล้วเป็นพาหะของโรคอยู่ แต่ไม่สามารถไปใช้บริการตรวจไวรัสได้เพราะจ่ายเงินค่าตรวจไม่ไหวทั้งๆ ที่อยากไป และคงใช้ชีวิตแบบเดิมตามปกติ ทำให้แพร่โรคระบาดต่อไปให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวได้ จนในที่สุดการควบคุมโรคในภาพรวมจะทำได้ยากลำบาก และเป็นเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดหนักหนากว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ดังที่ปรากฏในปัจจุบันตามยอดผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแซงหน้าอิตาลีไปแล้ว ดังนั้นหลังผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ เราอาจได้เห็นบทบาทที่เพิ่มขึ้นของระบบรัฐสวัสดิการในแต่ละประเทศก็เป็นได้

โลกหลังโควิด,New Normal

New Normal สู่ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ


ทุกวิกฤตย่อมทิ้งร่องรอย (legacy) ไว้เสมอ ย้อนกลับไปในสมัยการระบาดของโรคซาร์สในปี 2545 ก็สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการใช้เทคโนโลยีออนไลน์อย่างอีคอมเมิร์ซในจีน ให้มาเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนอย่างสูง โดยเฉพาะอาลีบาบาและเจดีดอทคอม เพราะผู้คนหลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากพื้นที่สาธารณะและหันมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น มาถึงวิกฤตครั้งนี้ก็จะทิ้งร่องรอยไว้เช่นกัน โดยเป็นการตอกย้ำให้ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าแบบดั้งเดิมต้องเร่งพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพื่อช่วงชิงตลาดจากการค้าขายแบบออนไลน์มากขึ้นอีก รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลหลายประเภทที่มีมานานแล้วแต่ยังไม่มีคนใช้กันมากนัก วิกฤตครั้งนี้กลับบังคับให้คนต้องหันมาใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างจริงจัง และสร้างโอกาสต่อยอดให้มีผู้เล่นในตลาดมากยิ่งขึ้น อาทิแพลตฟอร์มที่ช่วยสื่อสารทางไกล จัดประชุม หรืออีเวนท์ ซึ่งผู้บริโภคจะเกิดความคุ้นเคยและเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้เทคโนโลยีอย่างถาวร นอกจากนี้แม้กระทั่งสถาบันการศึกษาก็ต้องพัฒนาไปใช้วิธีการสอนแบบออนไลน์ทดแทนทั้งหมดในช่วงวิกฤต ซึ่งอาจพลิกโฉมระบบการศึกษาโลกไปโดยสิ้นเชิงหลังผ่านพ้นวิกฤตแล้ว
ประเด็นสุดท้ายคือผู้คนอาจจะกลัวการใช้เงินสดหรือธนบัตร เพราะกระดาษอาจเป็นพาหะของเชื้อโรคได้แม้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว และจะเริ่มคุ้นชินกับการรักษาสุขอนามัยอย่างเข้มงวด ไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่คำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

โลกหลังโควิด,อาหารปลอดภัย

โลกมุ่งสร้างความมั่นคงด้านอาหารปลอดภัย


ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ระบุว่า โลกหลังโควิดคงเน้นความเพียงพอของอาหารมากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ WHO, FAO, และ WTO ออกแถลงการณ์ร่วมกันห่วงใยการขาดแคลนอาหารในโลก ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการปิดพรมแดนจากการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ ทำให้การขนส่งอาหารถูกกระทบจากปัญหาด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ
ดังนั้นหลังโควิด-19 ความมั่นคงทางอาหารยังเกี่ยวโยงกับความมั่นคงทางสุขภาพ สาธารณสุข เช่น เรื่องการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย อาหารปลอดสารพิษ อาหารที่เสริมภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรค อาหารที่ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง อาหารที่ฟื้นฟูสุขภาพ อาหารที่กระบวนการผลิตปลอดจากการปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีที่อันตรายต่างๆ เหล่านี้ ที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องมีการศึกษา การวิจัย การเรียนการสอน การปฏิบัติ การรับเอานวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้อย่างมากในเวลาอันสั้น เรื่องเทคโนโลยีการผลิตยา วิตามิน เวชภัณฑ์ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ น่าจะเป็นทิศทางของกิจกรรมทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน ประเทศต่างๆ คงพัฒนานักเทคโนโลยีของตนให้มากที่สุด
สำหรับประเทศไทยเองก็คงต้องสร้างระบบนิเวศน์ในการสร้างนวัตกรรม (Eco-System for Innovation) ของคนไทย ที่ชักชวนให้แรงจูงใจคนให้มาร่วมคิดร่วมประดิษฐ์ ร่วมพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์ต่างๆ ทั้งยาป้องกันโรค ยารักษาโรค เวชภัณฑ์ต่างๆ ที่เรามีประสบการณ์แล้วว่าที่ผ่านมายามคับขันเขาขาดแคลนอะไร เพียงใด และเราควรส่งเสริมนักเทคโนโลยีไทยอย่างไร เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางสาธารณสุข

Digital Transformation


วิทยาศาสตร์ของข้อมูลสถิติ (Data Science) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะช่วยหาคำตอบในเรื่องต่างๆ จะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในการคาดการณ์และเข้าใจการระบาดของโรค การแก้ไขการระบาด และระบบการติดตามผู้อาจติดเชื้อ (Test and Trace) เป็นข้อมูลใหญ่ที่ผ่านการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง (Big Data Analytic) ซึ่งในอดีตหลายประเทศอาจไม่ได้ให้ความสำคัญพัฒนาระบบเหล่านี้ เพราะไม่เคยคาดคิดว่าจะมีสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน อาทิเช่น
การใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน จากการสร้างระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และการปิดสถานที่ต่างๆ ตามมาตรการสาธารณสุขในเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก (ถ้ารวมเขตปกครองพิเศษต่างๆ ก็จะถึง 210 แห่ง) ทำให้เทคโนโลยีเข้ามาบงการชีวิตคนอย่างไม่มีทางเลือก ไม่ว่าก่อนหน้านี้จะมีความพร้อมหรือไม่ก็ตาม
การเรียนการสอนออนไลน์ การประชุมของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคมผ่านระบบทางไกล เช่น วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ การซื้อของ การสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มและบริการต่างๆ การใช้เทคโนโลยีในบริการทางการเงินที่เต็มรูปแบบยิ่งขึ้นเป็นต้น ก็กลายเป็นวิถีชีวิตของคนรวมทั้งคนไทยไปแล้ว แต่ขณะเดียวกันการขนส่ง ส่งมอบสินค้าที่สั่งออนไลน์ (Delivery Service) ก็กลายเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วและต้องการคนทำงานมากขึ้นอย่างมาก
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ธุรกิจบริการที่สนองต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก มีการเติบโตหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เกิดขึ้นหลายระบบในเวลาอันสั้น และจะมีธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้ความจำเป็นในการเดินทางในธุรกิจระหว่างประเทศลดลง
กล่าวได้ว่าเทคโนโลยีในชีวิตของโลกหลังโควิค คงไม่กลับมาสู่ระดับการใช้เทคโนโลยีก่อนโควิดอีกแล้ว แต่จะไปไกลขนาดไหน เทคโนโลยีออนไลน์จะกระทบอาชีพใดบ้าง กระทบธุรกิจห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร อาชีพอิสระ อาคารสำนักงาน จะกระทบธุรกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยว, การเดินทางมากขนาดไหน จะมีรูปโฉมแตกต่างไปอย่างไร
แยกแยะ..ความผิดปกติปัจจุบัน หรือปกติใหม่
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ระบุการไม่แยกแยะ “ความผิดปกติปัจจุบัน” (current abnormal) ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคม กับ “ความปกติใหม่” (new normal) ใน “โลกหลังโควิด-19” เช่นการประชุมผ่านระบบออนไลน์ที่น่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะช่วยลดต้นทุนจากการเดินทาง
การไม่แยกแยะประเด็นอาจทำให้เข้าใจผิดไปว่า พฤติกรรมของมนุษย์เราในช่วงผิดปกติในปัจจุบันส่วนใหญ่จะดำรงต่อเนื่องไป ทั้งที่ประวัติศาสตร์ของการเกิดโรคระบาดใหญ่ในอดีตชี้ว่า ในหลายกรณีพฤติกรรมส่วนใหญ่ในช่วงผิดปกติ จะหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อเหตุการณ์กลับมาเป็นปกติแล้ว


ดังนั้นก่อนที่เราจะด่วนสรุปว่า “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด” เป็นอย่างไร และควรดำเนินการอย่างไรนั้น เราควรต้องถามตัวเองอย่างน้อย 5 คำถาม คือ
– เราใช้ข้อสมมติ (assumption) อะไรในการวาดภาพอนาคต?
– เราได้พยายามแยกแยะ “ความผิดปกติปัจจุบัน” (current abnormal) ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดออกจาก “ความปกติใหม่” (New Normal) ใน “โลกหลังโควิด-19” หรือยัง?
– “ความปกติใหม่” ที่เราตั้งเป้าอยากเห็นจะมีต้นทุนสูงเพียงใด เราพร้อมจะจ่ายและสามารถจ่ายได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดใหม่ของระบบเศรษฐกิจไทย ที่น่าจะเติบโตช้าลง ในขณะที่รัฐบาล ธุรกิจ และประชาชนไทย จะมีทรัพยากรน้อยกว่าก่อนเกิดโควิด-19 มาก?
– การสร้าง “ความปกติใหม่” ตามที่เราจินตนาการไว้ จะต่อยอดจากการลงทุนสร้าง “ความปกติเดิม” ก่อนเกิดโควิด-19 อย่างไร ทั้งทุนกายภาพและทุนมนุษย์ ซึ่งหาก “ความปกติ” ใน 2 ช่วงเวลาแตกต่างกันมาก เราจะทำอย่างไรไม่ให้การลงทุนมหาศาลในอดีตสูญเปล่า?
– เราเข้าใจบริบทใหม่ (new context) ในเศรษฐกิจการเมืองโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปดีพอหรือยัง ที่จะทำให้เราปรับตัวได้อย่างเหมาะสมกับบริบทใหม่นี้?
ดังนั้นการทำความเข้าใจต่อ “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด-19” มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศไทยอย่างมาก เราจึงควรช่วยกันศึกษาให้ดี ไม่ควรด่วนสรุปจากการหาคำตอบแบบผิว

แหล่งอ้างอิงได้ที่

: https://tdri.or.th/2020/04/new-normal-in-post-covid-world/
: http://doh.hpc.go.th/bs/issueDisplay.php?id=390&category=B10&issue=CoronaVirus2019
: https://www.thereporters.co/feature/world-after-covid19-new/

การฉีดวัคซีน COVID-19
ข่าวสาร

การฉีดวัคซีน COVID-19 รู้ให้ชัดก่อนฉีดวัคซีน COVID-19

การฉีดวัคซีน COVID-19 ได้รับการยืนยันแล้วว่าช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องทำควบคู่ไปกับการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือให้บ่อย และเลี่ยงพื้นที่แออัด ดังนั้นก่อนฉีดวัคซีน COVID-19 ควรรู้และเข้าใจข้อมูลให้ถูกต้อง

โรค COVID-19
โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาซาร์โควี-2 (SAR-CoV-2) เป็นการแพร่เชื้อไวรัสจากคนสู่คน โดยได้รับเชื้อละอองฝอย (Droplets) จากการไอหรือจาม การสัมผัสสารคัดหลั่ง (Contact) เช่น น้ำลาย น้ำมูก เสมหะ เป็นต้น

ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการใด ๆ บางรายอาจมีอาการเล็กน้อย เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รู้สึกเหมือนมีไข้ เจ็บคอ และบางรายอาจมีอาการรุนแรง เช่น ติดเชื้อรุนแรงในปอด หรือมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ จะมีอัตราการเกิดอาการรุนแรงที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุน้อยและสุขภาพแข็งแรง เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะเวลาฟักตัว (ตั้งแต่ได้รับเชื้อไปจนถึงแสดงอาการ) ประมาณ 2 – 14 วัน จึงได้มีการกำหนดมาตรการให้กักตัวผู้มีความเสี่ยงสูงเมื่อสัมผัสผู้ติดเชื้อเป็นเวลา 14 วัน

การฉีดวัคซีน COVID-19


วัคซีน COVID-19
โดยปกติเมื่อเชื้อโรคทุกชนิดเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะมีวิธีจัดการเชื้อหลายแบบ หนึ่งในนั้นคือเม็ดเลือดขาวชนิด Macrophage จะกลืนเชื้อเข้าไปและทิ้งเศษซากเชื้อบางส่วนไว้เรียกว่า แอนติเจน (Antigen) ร่างกายจะรับรู้ว่าแอนติเจนคือสิ่งแปลกปลอมและจะสร้างแอนติบอดี (Antibody) มาจัดการสิ่งแปลกปลอมนั้น รวมถึงมีเม็ดเลือดขาวอีกชนิดหนึ่งที่จำว่าเชื้อโรคนี้คือสิ่งแปลกปลอม ถ้าหากได้รับเชื้อในอนาคตร่างกายจะสามารถจดจำและจัดการได้ การทำงานของวัคซีนเป็นไปในลักษณะเดียวกัน
วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้ขึ้นมา ช่วยป้องกันการติดเชื้อหากได้รับเชื้อในอนาคต แต่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งหลังฉีดวัคซีนร่างกายจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ การฉีดวัคซีนผู้รับวัคซีนยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เช่น ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น

วัคซีนอาจไม่สามารถป้องกันทุกคนที่ฉีดจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ แต่พบว่าสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ และยังไม่มีข้อมูลว่าเมื่อฉีดแล้วจะมีภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้นานเท่าไร รวมถึงไม่มีข้อมูลว่าผลการฉีดวัคซีนให้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันนั้น ทำให้ภูมิต่อไวรัสโควิด-19 มีผลลดลงกว่าในคนปกติหรือไม่

ชนิดของวัคซีน COVID-19
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก มีการคิดค้นวัคซีนโควิด-19 โดยหลายบริษัทผู้ผลิตและหลายรูปแบบ วิธีการผลิตวัคซีนหรือที่มาของวัคซีนมีหลายวิธีการ แต่ทั้งหมดคือให้ต่อต้านไวรัสโคโรนาซาร์โควี-2 (SAR-CoV-2) ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายเพื่อไปก่อโรคได้ โดยที่ไวรัสนี้จะมีส่วนที่เป็นไกลโคโปรตีนยื่นออกจากเซลล์เรียกว่าสไปค์ (Spike) จะไปจับกับตัวรับ (Receptor) ที่อยู่บนเซลล์ในร่างกาย เช่น ที่ทางเดินหายใจหรือลำไส้ เมื่อจับกันแล้วไวรัสก็จะเข้าสู่ร่างกายและไปก่อโรค โดย 4 วิธีการที่มีการผลิตมากที่สุด ได้แก่

  1. messenger RNA (mRNA) vaccine เป็นวัคซีนที่มีส่วนที่กำกับการสร้างโปรตีนของไวรัส SAR-CoV-2 ที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เมื่อฉีดวัคซีนแล้วร่างกายจะสร้างโปรตีนชนิดนั้นขึ้นมาและทำลาย mRNA ที่ฉีดเข้าไป จากนั้นร่างกายจะรับรู้ว่าโปรตีนที่สร้างขึ้นมานั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมและจะสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมา
  2. Viral Vector เป็นวัคซีนที่ตัดต่อทางพันธุกรรมโดยการใช้สารทางพันธุกรรมของไวรัส SAR-CoV-2 ใส่เข้าไปในตัวไวรัสชนิดอื่นที่ไม่ก่อโรค (เรียกไวรัสนี้ว่า Viral Vector) เมื่อฉีดวัคซีนเข้าไปในร่างกายแล้ว Viral Vector จะพาเอาสารพันธุกรรมนั้นเข้าไปในเซลล์ของเรา ทำให้เกิดการสร้างโปรตีนที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัส SAR-CoV-2 ขึ้นมา จากนั้นร่างกายจะรับรู้ว่าโปรตีนที่สร้างขึ้นมานั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมและจะสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมา
  3. Inactivated Virus Vaccine หรือวัคซีนเชื้อตาย ผลิตโดยการเลี้ยงไวรัสชนิดนี้ให้ได้ปริมาณมากแล้วมาทำให้ตายด้วยสารเคมีหรือความร้อน เมื่อฉีดวัคซีนแล้วร่างกายจะรับรู้ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมและจะสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมา
  4. Protein Subunit Vaccine เป็นการผลิตวัคซีนมาจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อไวรัส SAR-CoV-2 ที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เมื่อฉีดวัคซีนแล้วร่างกายจะรับรู้ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมและจะสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมา
วัคซีนโควิด

ใครควรได้รับวัคซีน
บุคคลทั่วไปควรได้รับวัคซีน แต่ขณะนี้มีการผลิตวัคซีนได้ในจำนวนจำกัดและมีข้อมูลการฉีดในประชากรบางกลุ่มเท่านั้น กรมควบคุมโรคจึงกำหนดกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับวัคซีนตามลำดับ เริ่มจากพื้นที่ที่มีการระบาดก่อน ได้แก่

  1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
  2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
  3. ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (ข้อมูล ณ วันที่ 3 มีนาคม 2564 ประชากรกลุ่มนี้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้บางชนิดเท่านั้น)
  4. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น อสม./อสต. ทหาร ตำรวจ จะต้องคัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาด
    ***ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเรื่องการให้วัคซีนในเด็กต่ำกว่า 18 ปี หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร แพทย์อาจจะพิจารณาความจำเป็นเป็นราย ๆ ไป ถ้าเห็นว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนจะได้รับประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
ผู้ที่รับวัคซีนอาจมีอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนหรือไม่มีก็ได้ อาการข้างเคียงที่อาจพบได้มีดังนี้
• อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ ปวด บวม แดง คัน หรือช้ำบริเวณที่ฉีดยา อ่อนเพลีย และรู้สึกไม่สบายตัว ปวดศีรษะเล็กน้อย อาการคล้ายมีไข้ คลื่นไส้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ
• อาการที่พบได้ไม่บ่อยหรือพบได้น้อย เช่น มีไข้ มีก้อนที่บริเวณที่ฉีดยา เวียนศีรษะ มึนงง ใจสั่น ปวดท้อง อาเจียน ความอยากอาหารลดลง เหงื่อออกมากผิดปกติ ต่อมน้ำเหลืองโต อาการเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ เป็นต้น


ข้อห้ามในการฉีดวัคซีนโควิด

ข้อห้ามในการฉีดวัคซีน
มีประวัติแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน หรือผู้ที่ฉีดเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้รุนแรง เช่น หายใจติดขัด (Shortness of Breath) มีอาการบวมที่หน้า ลิ้น หรือในทางเดินหายใจ เป็นต้น
ข้อควรระวัง
สิ่งที่ต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน ได้แก่

  1. มีประวัติการแพ้ยา วัคซีน อาหาร สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ อย่างรุนแรงหรือจนเป็นอันตรายต่อชีวิต
  2. มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียสในวันที่นัดฉีดวัคซีน
  3. มีรอยช้ำ หรือจ้ำเลือด หรือเลือดออกผิดปกติ หรือใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดอยู่ เช่น วาร์ฟาริน
  4. ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือใช้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่ เช่น สเตียรอยด์ขนาดสูง ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยากดภูมิคุ้มกัน
  5. อาการข้างเคียงทุกชนิดจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้ในเข็มแรก
  6. ตั้งครรภ์ หรือมีแผนจะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
    ***อาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น มีไข้เล็กน้อย แพทย์อาจให้ฉีดวัคซีนได้โดยไม่จำเป็นต้องเลื่อนการฉีด กรณีเจ็บป่วยรุนแรงแพทย์อาจเลื่อนการฉีดออกไปก่อน โดยพิจารณาจากอาการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

การปฏิบัติตัวหลังได้รับวัคซีน
ผู้ฉีดวัคซีนจะต้องอยู่เฝ้าสังเกตอาการที่สถานพยาบาลหลังฉีดวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที โดยระหว่างนั้นและหลังจากนั้นให้สังเกตอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นตามข้างต้น และให้แจ้งอาการข้างเคียงทุกอย่างที่เกิดขึ้นแก่แพทย์ พยาบาล เภสัชกรด้วย เนื่องจากวัคซีนนี้เป็นวัคซีนชนิดใหม่อาจจะมีบางอาการที่ยังไม่พบตามข้างต้น หากมีอาการเล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ ๆ สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้ หากมีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง ให้มาพบแพทย์โดยทันที และให้เก็บบันทึกการฉีดวัคซีนไว้เป็นหลักฐานด้วย

ตั้งแต่เริ่มมีการพบเชื้อไวรัส COVID-19 ในปลายปี พ.ศ. 2562 นอกจากการสูญเสียชีวิตยังเกิดผลกระทบหลายอย่างตามมาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม การคิดค้นวัคซีนเพื่อป้องกันโรคจึงเป็นหนทางสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยลดการติดเชื้อและความสูญเสีย ซึ่งปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยทิศทางงานวิจัยในอนาคต คือ ค้นคว้าวิจัยหายารักษาให้ได้และหาวัคซีนที่ได้ผลดีต่อเชื้อทุกสายพันธุ์อย่างปลอดภัย

References การฉีดวัคซีน COVID-19

  1. World Health Organization (WHO) [Internet] [Cited 2021 February 28] Status of COVID-19 Vaccines within WHO EUL/PQ evaluation process. Available from: https://extranet.who.int/pqweb/sites/default/files/documents/Status_COVID_VAX_01March2021.pdf
  2. World Health Organization (WHO) [Internet] [Cited 2021 March 3] COVID-19 – Landscape of novel coronavirus candidate vaccine development worldwide. Available from : https://www.who.int/publications/m/item/draft-landscape-of-covid-19-candidate-vaccines
  3. World Health Organization (WHO) [Internet] [Cited 2021 March 3] ROADMAP FOR PRIORITIZING POPULATION GROUPS FOR VACCINES AGAINST COVID-19. Update 27 September 2020. Available from https://www.who.int/immunization/sage/meetings/2020/october/Session03_Roadmap_Prioritization_Covid-19_vaccine.pdf
  4. Package leaflet. Information for the recipient COVID-19 Vaccine AstaZeneca solution for injection. Update December 2020
  5. Centers for Disease Control and Prevention (CDC) [Internet] [Cited 2021 March 1] COVID-19 Vaccine: Helps protect you from getting COVID-19. Available from: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/index.html
  6. Centers for Disease Control and Prevention (CDC) [Internet] [Cited 2021 March 1] Understanding How COVID-19 Vaccines Work Updated Jan. 13, 202. Available from : https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/different-vaccines/how-they-work.html
  7. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข [ internet] [Cited 2021 February 20] โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) Available from: https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/faq_more.php
  8. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ในสถานการณ์การระบาดปี 64 ของประเทศไทย. กุมภาพันธ์ 2564

ข้อมูลโดย https://www.bangkokhospital.com/

หากท่านสนใจสร้างแบรนด์ของตัวเอง ผลิตแอลกอฮอล์เจล ผลิตสินค้าเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สำหรับผิว หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในแบรนด์ของตัวเอง สามารถขอคำปรึกษาได้ที่นี่ CLICK!!
FB:ILC-International Laboratories
Tel : 02-346-8222-4
E-mail : export@ilc-cosmetic.com
j_bussaba@ilc-cosmetic.com
www.ilc-cosmetic.com
Line: @ilc_cosmetic

contact ilc

โควิด-19 กักตัว
ข่าวสาร

กักตัวโควิด-19 รวมวิธีดูแลผิวช่วงกักตัวหนี Covid-19

กักตัวโควิด-19 เนื่องจากวิกฤต Covid-19 กำลังระบาดไปทั่วโลก ทำให้เราต้องกักตัวอยู่ที่บ้านและงดพบปะสังสรรค์กับผู้อื่นตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ล่าสุดรัฐบาลยังประกาศเพิ่มเติมให้บรรดาคลินิกเสริมสวยต่างๆ ต้องปิดให้บริการชั่วคราว จนเกิดอาการความมั่นใจในตัวเองหดหาย เพราะไม่ว่าจะร้านทำเล็บ ร้านตัดผม สปา หรือคลินิกทำหน้า ฯลฯ ล้วนปิดหมด แต่ใช่ว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ความงามหรือสิ่งที่คุณมีต้องมลายหายไปหรือเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เพราะเรามี 5 วิธีดูแลผิวหน้าสำหรับคนที่อยากให้ความสวยอยู่คู่กับเราไปตลอดในช่วง กักตัวโควิด-19

กักตัวโควิด-19 เริ่มต้นจากภายนอก

1. เริ่มต้นจากภายใน 

สิ่งแรกที่ควรดูแลคือสภาพจิตใจของเราเอง บางครั้งความไม่มั่นใจว่าเราหน้าตาไม่ดีเกิดจากความกังวลที่อยู่ในส่วนลึกของจิตใจ หรือมาจากความรู้สึกว่าชีวิตไม่ปลอดภัยอันเกิดจากเรื่องไวรัส อย่างแรกจึงควรฟื้นฟูความมั่นใจของตนเองกลับมาก่อน เช่น พยายามคิดบวก หรือใช้เวลาที่อยู่บ้านพัฒนาตนเอง เริ่มอ่านหนังสือ ฟังเพลงให้มากขึ้น ฟังเทศน์ฟังธรรม ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์ การมีสมาธิทำสิ่งเหล่านี้จะทำให้จิตใจมั่นคงมากขึ้น พร้อมรับมือกับปัญหาอย่างมีสติ 

กักตัวโควิด-19 กินอาหารปรุงสุก

2. เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน 

เราก็ควรถือโอกาสนี้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในการเลือกกินอาหารที่สะอาด ปรุงสุก และมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น โปรตีนจากเนื้อปลาทะเลน้ำลึก แทนที่เบคอน แฮม ลูกชิ้นทอด ฯลฯ กินธัญพืช ผักและผลไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่มีวิตามินซีและแร่ธาตุสำคัญ เช่น ฝรั่ง ส้ม กล้วย มะละกอ ฯลฯ เหล่านี้ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานที่ดี ไม่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยง่าย หากต้องการเสริมวิตามินให้ลองเป็นวิตามินรวม วิตามินบี ซี อี หรือแร่ธาตุ เช่น สังกะสี เช่นเดียวกับกระเทียมที่สามารถช่วยเรื่องภูมิต้านทานได้ด้วย แนะว่าใครที่ถนัดสั่งเดลิเวอรีควรเลือกอาหารปรุงสุก ร้อน และมีฝาปิดภาชนะที่มิดชิด แล้วอย่าลืมสั่งอาหารที่มีประโยชน์มากินล่ะ  

กักตัวโควิด-19 บำรุงผิวด้วยตัวเอง

3. สวยด้วยตัวเอง 

สวยไม่ง้อร้าน เริ่มต้นบำรุงผิวด้วยตัวเองที่บ้าน ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีโดยไม่ต้องเจอใคร หากเป็นผิวหน้าควรมีเซรั่มหรือครีมบำรุงผิวที่มอบความชุ่มชื้น ลองฝึกทำสปาด้วยตัวเอง เช่น มาสก์หน้า ขัดผิวตัวและผิวเท้า ลองทาเล็บเองดูบ้าง ข้อดีคือตอนนี้คุณอยู่ในช่วงกักตัวโควิด-19 แม้จะทำไม่สวยก็ไม่มีใครเห็น ฝึกบ่อยๆ เดี๋ยวก็เก่งขึ้น ดีกว่าปล่อยเนื้อปล่อยตัวให้ยิ่งเศร้าหมองไปกันใหญ่

กักตัวโควิด-19 ออกกำลังกาย

4. ออกกำลังกายเพื่อผิวพรรณ 

ช่วง Work from Home ทำให้เราต้องอยู่บ้าน อีกทั้งฟิตเนสก็ปิด ทำให้ไม่ได้ออกกำลังกาย หากไม่อยากให้น้ำหนักตัวเกิน แนะนำให้ออกกำลังกายเองที่บ้านวันละ 40-60 นาทีเป็นประจำทุกวัน ด้วยกิจกรรมที่หลากหลายและสามารถทำได้คนเดียว เช่น การเล่นโยคะ ไทเก๊ก วิ่ง เดินเร็ว บอดี้เวต ฯลฯ ข้อดีของการเล่นเองที่บ้านคือไม่ต้องเสี่ยงรับเชื้อจากคนอื่นๆ ในฟิตเนส และยังเป็นการป้องกันตัวเองไม่ให้เอาเชื้อไปติดใครด้วย (ในกรณีที่เป็นแต่ไม่รู้ตัว)

แน่นอนว่านอกจากการออกกำลังกายจะช่วยสร้างกล้ามเนื้อ เผาผลาญไขมัน ทำให้ปอดและหัวใจแข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้ผิวพรรณของเราดูดี เพราะมีเลือดสูบฉีด และขับสารพิษออกจากร่างกาย อย่าลืมว่าคนออกกำลังกายมักดูเด็กนะ จำไว้ 

กักตัวโควิด-19 งดของทำลายสุขภาพ

5. งดของทำลายสุขภาพ 

ลด ละ เลิก พฤติกรรมทำลายสุขภาพอย่างการดื่มเหล้าเมาหัวราน้ำบ่อยๆ เพราะไม่ดีทั้งกับสุขภาพผิวและตับ ถือโอกาสนี้เลิกบุหรี่เสียที เพราะการสูบบุหรี่ถือเป็นการทำลายปอด จุดเดียวกับที่ไวรัสพุ่งเข้าโจมตี และเลี่ยงการทำร้ายตัวเองด้วยการนอนดึกๆ ดื่นๆ ทำให้นอนไม่พอ เพราะนอกจากพฤติกรรมเหล่านี้จะทำลายสุขภาพโดยรวมแล้วยังทำให้ผิวของคุณพังได้ง่ายขึ้นอีกด้วย  

https://thestandard.co/
Writen : ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

หากท่านสนใจสร้างแบรนด์ของตัวเอง ผลิตแอลกอฮอล์เจล ผลิตสินค้าเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สำหรับผิว หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในแบรนด์ของตัวเอง สามารถขอคำปรึกษาได้ที่นี่ CLICK!!!
FB:ILC-International Laboratories
Tel : 02-346-8222-4
E-mail : export@ilc-cosmetic.com
j_bussaba@ilc-cosmetic.com
www.ilc-cosmetic.com
Line: @ilc_cosmetic

contact ilc
error: Content is protected !!
โรงงานผลิตเครื่องสำอาง